อบต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ

อบต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ



ทำเนียบบุคลากร

ออนไลน์ : 299

หัวข้อ:: ครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย


ด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  20  กันยายน  2559  ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้  วันที่  28 กันยายน ของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย รวมทั้งกำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าว  เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติและเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย
 

                 ตามหลักฐานต่าง ๆ ปรากฏว่าตั้งแต่สมัยโบราณ ไทยเรายังไม่มีธงชาติโดยเฉพาะ เมื่อเวลาจัดกองทัพไปทำสงคราม จะใช้ธงสีต่าง ๆ ประจำทัพเป็นเครื่องหมายทัพละสี ต่อมาเมื่อมีการเดินเรือค้าขายกับต่างประเทศทางตะวันตกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ใช้ธงสีแดงติดเป็นเครื่องหมายว่าเป็นเรือบรรทุกสินค้าของไทย จดหมายเหตุของชาวต่างประเทศกล่าวว่า ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเรือฝรั่งเศสแล่นเข้ามาสู่ปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงป้อมของไทย ไทยชักธงชาติฮอดาขึ้นรับเรือฝรั่งเศส เพราะไม่มีธงชาติของตนเอง แต่เรือฝรั่งเศสไม่ยอมสลุตรับธงฮอลันดาเพราะเคยเป็นอริกันมาก่อน และถือว่าไม่ใช่ธงชาติไทย ฝ่ายไทยจึงแก้ไขโดยนำธงแดงขึ้นชักแทนธงชาติ เรือฝรั่งเศสจึงยอมสลุตคำนับ ตั้งแต่นั้นมาธงสีแดงจึงกลายเป็นธงชาติของไทยเรื่อยมา

ใช้มาแต่โบราณไม่ทราบเวลาแน่นอน ใช้ชักขึ้นต้อนรับเรือรบฝรั่งเศสในสมัยพระนารายณ์ ใช้เมื่อส่งพระไทยไปศรีลังกาสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรมพระยาดำรงราชานุภาพลงความเห็นว่าว่าใช้มานานมากแล้ว

ธงพื้นแดงตลอด (อดีต - 2325)

                 ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังใช้ธงสีแดงเกลี้ยงชักเป็นเครื่องหมายประจำเรือค้าขายกับต่างประเทศอยู่ ธงแดงนี้ใช้ชักขึ้นทั้งในเรือหลวงและเรือราษฎร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริว่า เรือหลวงกับเรือราษฎรควรมีเครื่องหมายให้เห็นแตกต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการให้นำรูปจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดงเป็นเครื่องหมายใช้เฉพาะเรือหลวง ส่วนเรือค้าขายของราษฎรทั่วไปยังคงใช้ธงแดงเกลี้ยงกันอยู่

ธงพื้นแดง ตลอดใช้มาถึงสมัยกรุงธนบุรี จนเข้าสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เพิ่มเติมรูปจักรสีขาวเข้าไปตรงกลางผืนธง และใช้เป็นสัญลักษณ์ของกองทหารเรือ

ธงพื้นแดงมีรูปวงจักรสีขาวตรงกลาง (2325 - 2352)

                 ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ช้างเผือกสามเชือก ซึ่งตามประเพณีไทยถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง จึงมีพระบรมราชโองการให้ทำรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักรในธงเรือหลวงด้วย สมัยนี้ธงเรือสินค้าของราษฎรก็ยังใช้ธงแดง

มีเหตุอันน่ายินดีในรัชกาลที่ 2 ทรงได้ช้างเผือกมา จึงทรงโปรดให้นำช้างรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักร ใช้กับกองทัพเรือที่เดินทางไปต่างประเทศ.

ธงพื้นแดง มีรูปวงจักรและช้างเผือกอยู่ตรงกลาง (2352 - 2394)

                 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำหนังสือสัญญาเปิดการค้าขายกับชาวตะวันตกใน พ.ศ.2398 มีเรือสินค้าของประเทศต่าง ๆในยุโรปและอเมริกาเดินทางเข้ามาค้าขายมากขึ้น และมีสถานกงสุลตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ สถานที่เหล่านั้นล้วนชักธงชาติของตนขึ้นเป็นสำคัญ จึงจำเป็นที่ไทยจะต้องมีธงชาติที่แน่นอน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ธงสีแดงที่เรือสินค้าไทยใช้อยู่นั้นซ้ำกับประเทศอื่น ยากแก่การสังเกต ไม่สมควรใช้อีกต่อไป ควรใช้ธงอย่างเรือหลวงเป็นธงชาติ แต่โปรดให้เอารูปจักรออกเสีย เพราะเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง

เปลี่ยนแปลงในรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าธงพื้นแดงอย่างเดียวไม่สามารถแยกเรือไทยออกจากเรื่อต่างชาติได้ จึงให้เอารูปจักรออก แล้วคงรูปช้างเผือกไว้บนพื้นแดง ใช้ทั้งเรือหลวงและเรือทั่วไป.

ธงพื้นแดง มีช้างเผือกอยู่ตรงกลาง (2394 - 2459)

                 ในระหว่างรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงหลายครั้ง คือพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยามร.ศ.110 พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก116 และพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก118 ทุกฉบับได้ยืนยันถึงลักษณะของธงชาติว่าเป็นธงพื้นแดง กลางเป็นรูปช้างเผือกไม่ทรงเครื่องหันหน้าเข้าเสาทั้งสิ้น ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า เมื่อมองธงชาติซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นแต่ไกลจะมีลักษณะไม่ต่างจากธงราชการเท่าไหร่ และรูปช้างที่อยู่ ตรงกลางธงก็ไม่งดงาม จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ออกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก129 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 แก้ไขลักษณะธงชาติเป็น “ธงพื้นแดง กลางเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหลังเข้าเสา” ประกาศนี้ให้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2459 เป็นต้นไป (ขณะนั้นยังนับเดือนเมษายนเป็นเดือนเริ่มศักราชใหม่)

ใช้ถึงรัชกาลที่ 6 ทรงให้เปลี่ยนเป็นช้างใส่เครื่องทรงยืนบนแท่น และหันหลังให้เสาธง.

ธงพื้นแดง มีช้างเผือกยืนบนแท่นหันหลังให้เสาธง (2459 - 2460)

                 ในพ.ศ.2460 ได้มีการแก้ไขลักษณะธงชาติอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยได้ประกาศตนเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อรบกับเยอรมัน ออสเตรีย และฮังการี ในสงครามโลกครั้งที่1 พระบาทสมเด็จ พระมงกฎเล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การประกาศสงครามครั้งนี้นับเป็นความเจริญก้าวหน้าขั้นหนึ่งของประเทศ สมควรจะมีสิ่งเตือนใจสำหรับวาระนี้ไว้ในภายหน้า สิ่งนั้นควรได้แก่ธงชาติ ทรงเห็นว่าลักษณะที่ได้แก้ไขไปแล้วในพ.ศ.2459 นั้น ยังไม่สง่างามเพียงพอ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เพิ่มแถบสีน้ำเงินแก่ขึ้นอีกสีหนึ่งเป็นสามสี ตามลักษณะธงชาติของนานาประเทศที่ใช้กันอยู่โดยมากขณะนั้น เพื่อให้เป็นเครื่องหมายว่าประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อต่อต้านปราบปรามฝ่ายอธรรม อีกประการหนึ่งสีน้ำเงินก็เป็นสีประจำพระชนมวารเฉพาะพระองค์ด้วย จึงเป็นสีที่สมควรจะประกอบไว้ในธงชาติไทยด้วยประการทั้งปวง 
                 การเปลี่ยนธงชาติครั้งนี้ จมื่นอมรดนุณารักษ์( แจ่ม สุนทรเวช ) ซึ่งรับราชการใกล้ชิดพระยุคลบาทในขณะนั้น ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริจะเปลี่ยนธงช้างเป็นธงแถบสี เพราะทรงเห็นความลำบากของราษฎรที่ต้องสั่งซื้อธงผ้าพิมพ์รูปช้างมาจากต่างประเทศ และบางครั้งเมื่อเกิดความสะเพร่าติดธงผิด รูปช้างกลับเอาขาชี้ขึ้นเป็นที่น่าละอาย หากเปลี่ยนเป็นธงแถบสี ราษฎรก็สามารถทำธงใช้เองได้ และจะช่วยขจัดปัญหาการติดผิดพลาด ได้ทรงพยายามเลือกสีที่มีความหมายทางความสามัคคีและมีความสง่างาม ก่อนออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่ ได้ทรงทดลองใช้ธงริ้วขาวแดงติดอยู่ที่สนามเสือป่าหลายวัน 
                 

เนื่องเพราะพื้นรูปช้างเผือกทำลำบาก และต้องสั่งงซื้อจากต่างประเทศ อีกทั้งมีการติดผิด รัชกาลที่ 6 เห็นว่าหากเปลี่ยนเป็นธงแถบสีราษฎรจะจำได้และทำใช้เองได้ จึงทรงให้ทดลองใช้ธงขาวริ้วแดงเป็นการชั่วคราว.

ธงพื้นริ้วขาวแดง (ระหว่างปี 2460)

                 ภายหลังจึงตกลงพระทัยใช้สีน้ำเงินแก่เพิ่มขึ้นอีกสีหนึ่ง การเพิ่มสีน้ำเงินนี้ปรากฎพระราชหัตถเลขาในบันทึกส่วนพระองค์ วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2460 ว่า ได้ทอดพระเนตรบทความแสดงความเห็นของผู้ใช้นามแฝงว่า”อะแคว์ริส” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ภาษาอังกฤษ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2460 ได้ทรงแปลข้อความนั้นลงในบันทึกด้วย มีความโดยย่อว่า เพื่อนชาวต่างประเทศของผู้เขียน (อะแคว์ริส) ได้ปรารภถึงธงชาติแบบใหม่ว่ายังมีลักษณะไม่สง่างามเพียงพอ ผู้เขียนก็มีความคิดเห็นคล้อยตามเช่นนั้น และเสนอแนะด้วยว่าริ้วตรงกลางควรจะเป็นสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าเปลี่ยนตามนี้แล้ว ธงชาติไทยก็จะประกอบด้วยสีแดง ขาว น้ำเงิน มีสีเหมือนกับธงสามสีของฝรั่งเศส ธงยูเนียนแจ็คของอังกฤษ และธงดาวของสหรัฐอเมริกา ประเทศพันธมิตรทั้งสามคงเพิ่มความพอใจประเทศไทยยิ่งขึ้นเพราะเสมือนกับยกย่องเขา ทั้งการที่มีสีของพระมหากษัตริย์ในธงชาติ ก็จะเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงพระองค์ในวาระที่ประเทศไทยได้เข้าสู่เหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เมื่อทรงทดลองวาดภาพธงสามสีลงในบันทึก ทรงเห็นว่า งดงามดีกว่าริ้วขาวแดงที่ใช้อยู่ 
                 ต่อมาเมื่อเจ้าพระยารามราฆพ (ขณะนั้นยังเป็นพระยาประสิทธิศุภการ) ไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำแบบธงไปถวายเพื่อทูลขอความเห็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก็ทรงเห็นชอบ รับสั่งว่าถ้าเปลี่ยนในขณะนั้นจะได้เป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระยาศรีภูริปรีชาร่างประกาศแก้แบบธงชาติ และได้ทรงนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะเสนาบดีเพื่อฟังความเห็น ที่ประชุมลงมติเห็นชอบธงสามสีตามแบบที่คิดขึ้นใหม่ 
                 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นเรียกว่า พระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2460 มีผลบังคับภายหลังวันออกประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว 30 วัน ลักษณะธงชาติมีดังนี้ คือ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมรี ขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 1 ใน 3 ของความกว้างของธงอยู่กลาง มีแถบสีขาวกว้าง 1 ใน 6 ของความกว้างของธงข้างละแถบ แล้วมีแถบแดงกว้างเท่ากับแถบขาวประกอบข้างนอกอีกข้างละแถบ และพระราชทานนามว่า “ธงไตรรงค์” ส่วนธงรูปช้างกลางธงพื้นแดงของเดิมนั้นให้ยกเลิก 
                 ความหมายของสีไตรรงค์ คือ 
                                  สีแดง หมายถึง ชาติและความสามัคคีของคนในชาติ 
                                  สีขาว หมายถึง ศาสนาซึ่งเป็นเครื่องอบรมสั่งสอนจิตใจให้บริสุทธิ์ 
                                  สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศ

ธงไตรรงค์ ประกาศใช้ในรัชกาลที่ 8 มี 3 สี คือ แดง ขาว และน้ำเงิน.

ธงไตรรงค์ (2460 - ปัจจุบัน)

                 พ.ศ.2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบธงชาติมาหลายครั้ง คือ จากธงพื้นแดงเกลี้ยงมาเป็นธงแดงมีช้างเผือกไม่ทรงเครื่องอยู่ตรงกลาง ธงพื้นแดงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นและธงไตรรงค์ แม้ว่าธงไตรรงค์จะให้ความสะดวกในการใช้และการสร้างขึ้นใช้ แต่ ธงไตรรงค์ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของต่างประเทศโดยทั่วไปอย่างแพร่หลายว่าเป็นธงชาติไทยเช่นธงช้าง นอกจากนี้ ธงไตรรงค์ยังมีสีคล้ายกับสีธงชาติของบางประเทศและคล้ายกับสีของธงบริษัทต่างประเทศบางแห่ง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายผิดกับธงช้างซึ่งไม่ซ้ำกับธงชาติใดเลย เพื่อไม่ให้ต้องเปลี่ยนธงชาติบ่อย ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ราชเลขาธิการบันทึกพระราชกระแสพระราชทานไปยังองคมนตรี ด้วยมีพระราชประสงค์จะทรงฟังความคิดเห็นส่วนมากประกอบพระราชวินิจฉัย บันทึกฉบับนี้ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2470 กำหนดให้องคมนตรีทั้งหลายทูลเกล้า ฯ ถวายความคิดเห็นภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับบันทึก มีข้อควรพิจารณาดังนี้ 
                 1. เลิกธงไตรรงค์แล้วใช้ธงช้างแทน 
                 2. ใช้ธงช้างเป็นธงราชการ ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติ 
                 3. ใช้ธงช้างเป็นธงราชการและธงชาติ ใช้ธงไตรรงค์เป็นสีสำหรับประเทศ คือ ใช้ตกแต่งสถานที่ในงานรื่นเริง เป็นต้น 
                 4. ใช้ธงไตรรงค์ผสมกับธงช้างพื้นแดงเป็นธงเดียวกัน 
                 5. คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติตามเดิมดังที่เป็นอยู่ขณะนั้น 
                 เมื่อองคมนตรีได้ทำหนังสือแสดงความคิดเห็นขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายแล้ว ปรากฎว่า ความเห็นทั้งหมดแตกต่างกันและไม่ได้ชี้ขาดลงไป ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป ตามพระราชวินิจฉัยลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2470 
       ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ตราพระราชบัญญัติธงเป็นฉบับแรกในรัชกาล เมื่อ พ.ศ. 2479 ในส่วนที่ว่าด้วยธงชาตินั้นยังคงใช้ธงไตรรงค์ แต่ได้อธิบายลักษณะให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น คือ " ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วน ตรงกลางเป็นสีขาบ (น้ำเงินเข้ม) ต่อจากแถบสีขาบออกไปทั้งสองข้าง ข้างละ 1 ใน 6 ส่วนเป็นแถบสีขาว ต่อแถบสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีแดง " 
       พระราชบัญญัติธงฉบับต่าง ๆ ที่ออกมาในสมัยต่อมา ไม่มีข้อความใดเปลี่ยนแปลงลักษณะของธงชาติอีก ธงไตรรงค์จึงเป็นธงชาติไทยสืบมาจนปัจจุบัน    ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ ตั้งแต่สมัยที่ยังใช้ธงพื้นแดงนั้น ใช้ชักบนเรือสินค้าของราษฎรไทยทั่วไป ภายหลังเมื่อประกาศใช้ธงช้างเป็นธงชาติครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่มักชักในเรือที่เดินทางค้าขายกับต่างประเทศ นอกจากนี้ก็มีการชักขึ้นตามป้อม วังเจ้านาย บ้านเรือนข้าราชการและราษฎร ร้านค้า และสถานที่ราชการ ตลอดจนใช้ประดับตกแต่งในงานพิธีต่าง ๆ ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัวแต่อย่างใด จนกระทั่งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงมีระเบียบเกี่ยวกับธงชาติออกประกาศใช้เป็นครั้งแรกในพ.ศ. 2478 เรียกว่าระเบียบการชักธงชาติสยาม 
       ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 มาตรา 17-20 บทบังคับทั่วไปได้กล่าวถึงระเบียบการชักธงชาติและข้อควรปฏิบัติต่อธงชาติ และในบทกำหนดโทษท้ายพระราชบัญญัติในมาตรา 21-23 ก็ได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบังคับมีทั้งปรับเป็นเงิน จำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำ หนักเบาแล้วแต่ความผิดที่ได้กระทำ ต่อมาได้มี ระเบียบการชักธงชาติออกบังคับใช้ตามบังคับ คือ 
       1.ระเบียบการชักธงชาติสยาม แก้ไขเพิ่มเติม (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม53 ภาคที่1 วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2479 หน้า 838 ) 
       2.กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2479 หน้า 1193-1194) 
       3.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการชักธงชาติสยามออกประกาศวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2480 (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 ภาค1 พ.ศ.2480 วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2480 หน้า 667) 
       4.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่4 เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ออกประกาศวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2482 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม56 ภาค1 พ.ศ.2482 วันที่ 9 กันยายน หน้า 1611) มีใจความโดยย่อว่า “ รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่าธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นสิ่งสำคัญประจำชาติพึงได้รับความเชิดชูเคารพจากชาวไทย ฉะนั้นเมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้นหรือลงจากยอดเสาตามสถานที่ราชการในเวลาปรกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยวหรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลดลง ให้ทุกคนแสดงความเคารพตามระเบียบเครื่องแบบของตนหรือประเพณีนิยม เมื่อได้ยินเพลงชาติซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการ หรือบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานหรืออยู่ในวงงานนั้นแสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม ” 
       5. พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2483 ตรา ณ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2483 มาตรา 4 ว่าด้วยข้อห้ามที่ไม่ควรปฏิบัติต่อชาติ 6 ประการ ( ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 พ.ศ.2483 แผนกกฤษฎีกา ภาค 2 วันที่ 15 ตุลาคม หน้า 508-513) 
       6. ระเบียบการชักธงชาติ ออกประกาศวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2483 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ศกเดียวกันเป็นต้นไป (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 พ.ศ. 2483 ภาค 2 วันที่ 31 ธันวาคม หน้า 3222-3228) 
       7. พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2485 ตรา ณ วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2485 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 59 พ.ศ.2485 แผนกกฤษฎีกา ภาค 1 ตอนที่ 33 วันที่ 19 พฤษภาคม หน้า 1083-1085) มาตรา 3,4 
       8. กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2485 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 59 พ.ศ.2485 แผนกกฤษฎีกา ภาค 1 หน้า 1086-1088) 
       9. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช 2488 ออกประกาศวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2487 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2488 เป็นต้นไป ให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติฉบับวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2483 และฉบับวันที่ 30 พฤษจิกายน พ.ศ.2486 กับบรรดาคำสั่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการชักธงชาติและมีข้อความขัดกับประกาศฉบับนี้ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 61 พ.ศ. 2487 แผนกกฤษฎีกา ภาค1-2 ตอน 72 วันที่ 31 ธันวาคม หน้า 1290-1293) 
       10. คำแนะนำในการปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบการชักธงชาติ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 61 พ.ศ.2487 แผนกกฤษฎีกา ตอนที่ 79 วันที่ 31 ธันวาคม หน้า 1294-1295) 
       11. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2491 ประกาศวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2491 ยกเลิกข้อความในข้อ 8 แห่งระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช 2488 และใช้ข้อความตามที่แก้ไขใหม่ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 65 พ.ศ.2491 แผนกกฤษฎีกา ตอนที่ 59 วันที่ 5 ตุลาคม หน้า 598-599) 
       12. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2493 ออกประกาศวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2493 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 67 ภาค 4 พ.ศ.2493 ตอนที่ 67 วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2493 หน้า 6373-6374) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2491 ซึ่งแก้ไขข้อความในข้อ 8 แห่งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ พ.ศ.2488 และแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใหม่ 
       13. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่4) พ.ศ.2494 ออกประกาศวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2494 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 68 ภาค 2 เล่ม1 ตอนที่ 44 พ.ศ.2494 วันที่ 10 กรกฎาคม หน้า 2809-2811) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2493 ซึ่งแก้ไขความในข้อ 8 แห่งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ พ.ศ.2488 และแก้ไขข้อความใหม่ 
       14. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแก้ไขการชักและประดับธงชาติในวันเฉลิมพระชนมพรรษา (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2494 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 68 ภาค 2 เล่ม 3 ตอนที่ 76 วันที่ 18 ธันวาคม หน้า 5668) 
       15. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2495 ออกประกาศวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2495 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 69 ตอนที่ 54 วันที่ 9 กันยายน หน้า 2917-2919) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ 4) แก้ไขข้อความใหม่ 
       16. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2501 ออกประกาศวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2501 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ภาค 2 เล่ม 1 ตอนที่ 57 วันที่ 29 กรกฎาคม หน้า 2129-2130) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ 5) และแก้ไขข้อความใหม่ 
       17.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่7) พ.ศ.2503 ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2503 (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 77 ตอนที่ 51 วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2503 หน้า 1566) ยกเลิกความใน ข้อ 8 ซ. 
       18. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2503 ลงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2503 (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 77 ตอนที่ 83 วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2503 หน้า 2140) แก้ไขข้อความใน ข้อ 5 ข. ของประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธง พ.ศ.2488 
       19. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2519 ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2519 มีข้อความแก้ไขข้อความในข้อ 5 กำหนดเวลาชักธงชาติขึ้นลงแห่งระเบียบการชักธงชาติ พ.ศ.2488 ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ปรับปรุงแก้ไขกำหนดเวลาชักธงชาติขึ้นลงและการเคารพธงชาติใหม่ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเกิดความผูกพันทางจิตใจ และมีความตื่นตัวเกี่ยวกับสัญลักษณ์ของบ้านเมืองยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษากันแล้วลงมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2519 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจึงดำเนินการแก้ไข และได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีออกบังคับใช้ดังกล่าวมาแล้ว 
       การลดธงชาติครึ่งเสา กรณีที่จะชักธงชาติครึ่งเสาเป็นเวลานานเท่าไหร่ ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป 
       วันพิธีที่ทำการชักธงและประดับชาติ 
       1. วันขึ้นปีใหม่ วันที่ 31 ธันวาคม และวันที่ 1,2 มกราคม 3 วัน 
       2. วันมาฆบูชา 2 วัน 
       3. วันจักรี วันที่ 6 เมษายน 1 วัน 
       4. วันสงกรานต์ วันที่ 13,14 และ 15 เมษายน 3 วัน 
       5. วันฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม 1 วัน 
       6.วันพืชมงคล 1 วัน 
       7.วันวิสาขบูชา 2 วัน 
       8. วันอาสาฬหบูชา 1 วัน 
       9. วันเข้าพรรษา 1 วัน 
       10. วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม 1 วัน 
       11. วันสหประชาชาติ วันที่ 24 ตุลาคม 1 วัน 
       12. วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5,6,7 ธันวาคม 3 วัน 
       13. วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันที่ 9,10,11 ธันวาคม 3 วัน 
       นอกจากนี้สุดแต่ทางราชการจะประกาศให้ทราบ ส่วนงานพิธีอื่น ๆ ตามประเพณีนิยม หากจะชักธงและประดับธงชาติก็ทำได้ แต่ต้องการกระทำไปด้วยความเคารพ 
       ข้อบังคับทั่วไปเกี่ยวกับธงชาติ ภายในประเทศไทยให้ชักได้แต่ธงชาติไทย ธงชาติของต่างประเทศชักได้ในกรณีต่อไปนี้ 
       1. ชักในสถานทูตหรือสถานกงสุล ตามธรรมเนียมและกฏหมายต่างประเทศ 
       2. ชักธงบนเรือต่างประเทศ หรืออากาศยานต่างประเทศตามธรรมเนียมและกฎหมายระหว่างประเทศ 
       3. ชักธงในโอกาสที่ประมุขแห่งรัฐหรือผู้แทนเดินทางมาเยือนประเทศไทย 
       4. ชักในโอกาสที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง หรือในโอกาสที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติธงประกาศให้ชักได้ หรือในโอกาสที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง 
       5. การชักธงชาติต่างประเทศในข้อ 3,4 ต้องชักตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง คือ 
              5.1 ต้องชักธงชาติไทยไว้กับธงต่างประเทศนั้นด้วย 
              5.2 ถ้าชักธงต่างประเทศ ประเทศเดียว ต้องให้ธงชาติไทยเคียงคู่อยู่ข้างขวาของธงชาติต่างประเทศ ดูจากภายในสถานที่ที่ชักธง 
              5.3 ถ้าชักธงต่างประเทศมากกว่าประเทศเดียว ซึ่งรวมกับธงชาติไทยเป็นจำนวนคี่ ต้องให้ธงชาติไทยอยู่กลาง 
              5.4 ถ้าธงชาติต่างประเทศมากกว่าประเทศเดียว ซึ่งรวมกับธงชาติไทยเป็นจำนวนคู่ ต้องให้ธงชาติไทยอยู่กลางข้างขวา ดูจากภายในสถานที่ที่ชักธง 
              5.5 ธงชาติไทยที่ชักอยู่กับธงต่างประเทศนั้น ต้องมีขนาดไม่เล็กกว่าธงต่างประเทศและต้องอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าธงชาติต่างประเทศที่ชักขึ้น ทั้งต้องมีลักษณะที่สมบูรณ์ ไม่ขาดวิ่น เลอะเลือน 
       6. ข้อบังคับซึ่งกล่าวมาแล้วนี้ ห้ามมิให้ใช้บังคับภายในห้องของบ้านหรือโรงเรียน 
       7. ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ 
              7.1 ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ นอกจากที่อนุญาตไว้ในพระราชบัญญัติธง หรือกฎหมายอื่น ลงบนธงชาติ 
              7.2 ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ ลงในแถบสีธงชาติโดยไม่สมควร 
              7.3 ใช้ชัก หรือแขวนธงชาติ หรือแถบสีธงชาติที่ได้ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ อันต้องห้ามในข้อ 7.1 และ 7.2 ลงไว้ แม้ว่าจะเป็นรูปหรือเครื่องหมายที่ปรากฎหรือมีอยู่ก่อนวันประกาศใช้พระราชบัญญัติธง 
              7.4 ใช้ชัก หรือแขวนธงชาติ หรืแถบสีธงชาติไว้ ณ สถานที่อันไม่สมควร หรือ วิตถารวิธี 
              7.5 แสดงกิริยา วาจา หรืออาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หยาบคายต่อธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ 
              7.6 ประดิษฐ์สีธงชาติ หรือแถบสีธงชาติลง ณ สถานที่หรือสิ่งของใด ๆ โดยไม่สมควร หรือแสดงหรือใช้สถานที่หรือสิ่งของอันยังมีรูปธงชาติหรือแถบสีธงชาติ ซึ่งประดิษฐ์ลงไว้โดยไม่สมควรนั้น แม้ว่ารูปธงชาติหรือแถบสีธงชาติเช่นว่านั้นจะปรากฎหรือมีอยู่ก่อนวันใช้พระราชบัญญัติธง 
       บทกำหนดโทษ 
       1. ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในข้อบังคับ 1-5 ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ 
       2. ผู้ใดชักธงชาติหรือแสดงธงอย่างใดอย่างหนึ่งในพระราชบัญญัติ โดยไม่มีสิทธิ์ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท จำคุกไม่เกิน 2 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ 
       3. ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งข้อ 7 ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ


*****************************

วันที่ : 4 สิงหาคม 60 View : 1118
รายละเอียด :  
ผู้ตอบ :  
อักขระ :